ดาวเคราะห์ ในระบบสุริยะ
ดาวเคราะห์ (ในภาษากรีก ใช้คำว่า planetes หรือ "ผู้พเนจร") คือ วัตถุขนาดใหญ่ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ ก่อนทศวรรษ 1990 มีดาวเคราะห์ที่เรารู้จักเพียง 9 ดวง (ปัจจุบัน 8 ดวง) ทั้งหมดอยู่ในระบบสุริยะ ปัจจุบันเรารู้จักดาวเคราะห์ใหม่อีกมากกว่า 100 ดวง ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบ หมายถึง โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์
ทฤษฎีที่ได้เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดในปัจจุบันกล่าวไว้ว่า ดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นมาจากการยุบตัวลงของกลุ่มฝุ่นและแก๊ส พร้อมๆ กับการก่อกำเนิดดวงอาทิตย์ที่ตรงใจกลาง ดาวเคราะห์นั้นไม่มีแสงสว่างในตัวเอง ที่เราสามารถมองเห็นได้เนื่องจากพื้นผิวสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบสุริยะมีดาวบริวารโคจรรอบ ยกเว้นดาวพุธและดาวศุกร์ และเราสามารถพบระบบวงแหวนได้ในดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อย่างเช่นดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน แต่มีเพียงดาวเสาร์เท่านั้นที่เราสามารถมองเห็นวงแหวนได้ชัดเจนโดยใช้กล้องโทรทรรศน์
นิยามของดาวเคราะห์
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ที่ประชุมสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งประกอบด้วยนักดาราศาสตร์กว่า 2,500 คนจาก 75 ประเทศทั่วโลก ได้มีมติร่วมกันในการกำหนดนิยามใหม่ของดาวเคราะห์ ดังนี้
- ไม่ใช่ดาวฤกษ์
- ไม่ใช่ดวงจันทร์บริวาร
- มีแรงดึงดูดมากพอ ที่จะทำให้โครงสร้างของดาวเป็นทรงกลม
- เป็นดาวที่โคจรรอบดาวฤกษ์ ซึ่งในที่นี้หมายถึงดวงอาทิตย์
- มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 500 ไมล์ (804.63 กิโลเมตร)
นิยามใหม่ของดาวเคราะห์นี้ส่งผลให้ ดาวพลูโต ถูกปลดออกจากการเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ คงเหลือดาวเคราะห์เพียง 8 ดวง เนื่องจากดาวพลูโตไม่สามารถควบคุมแรงดึงดูดและวงโคจรของสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกระบบสุริยะ และให้ถือว่าดาวพลูโตเป็น ดาวเคราะห์แคระ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ
รายชื่อดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
(เรียงตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์)
> ดาวพุธ
> ดาวศุกร์
> โลก
> ดาวอังคาร
> ดาวพฤหัสบดี
> ดาวเสาร์
> ดาวยูเรนัส
> ดาวเนปจูน
ข้อมูลจาก
http://blog.eduzones.com