มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบSMEs เพื่อให้สามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านพ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2563 หรือพ.ร.ก. Soft Loan ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 เม.ย. 64
แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ภาคธุรกิจมีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น
รัฐบาลจึงได้ปรับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่าน “มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19” วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 มาตรการสำคัญ
เริ่มจาก มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท
ที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายเดิมและรายใหม่ ให้เข้าถึงสินเชื่อ พร้อมรองรับการฟื้นตัว ด้วยการปรับเพิ่มวงเงินให้กู้ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้ยาวขึ้น และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการ
ส่วนอีกมาตรการ คือ มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท
ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง แต่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ให้สามารถเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ และในอนาคตสามารถขอเช่าทรัพย์กลับไปดูแลหรือเปิดดำเนินการต่อได้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าไม่ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์หรือหลักประกัน กลับมาสร้างงาน สร้างรายได้เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น
ที่สำคัญ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และ ธปท. สนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินดำเนินการต่อไป
โดยคาดว่า มาตรการฟื้นฟูฯ ดังกล่าว จะเริ่มดำเนินการได้เร็วที่สุดภายหลังแล้วเสร็จตามขั้นตอนการออกกฎหมาย ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี และสามารถขยายเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่