เวลาได้ยินในหนังพูดว่า ให้เอาคนไปประหาร ๗ ชั่วโคตร เคยสงสัยไหมคะว่า เขานับกันอย่างไร เพราะโคตรดังกล่าวมิได้หมายถึงแค่จำนวน แต่เป็นการนับญาติโดยตั้งต้นจากผู้ถูกประหารเป็นหลัก แล้วนับย้อนขึ้นและลงจนครบ ๗ ชั่วคนตามคำสั่ง โดยปกติคนไทยเราเป็นคนที่ชอบนับญาติ แม้กับคนที่ไม่รู้จัก เราก็มักจะเรียกเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นลุงป้า น้าอาตามอาวุโสที่เราเห็น ซึ่งแต่เดิมสังคมไทยก็เป็นสังคมระบบเครือญาติ มักจะอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่ คือ มีพ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่าตายาย ลุงป้า น้าอา มาอยู่ด้วยกัน หรือตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณเดียวกัน ทำให้เราได้รู้จักญาติผู้ใหญ่หรือลูกพี่ลูกน้องอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน ครอบครัวส่วนใหญ่กลายเป็น "ครอบครัวนิวเคลียส” คือ เหลือแค่พ่อ แม่ และลูก ทำให้เรารู้จักญาติๆน้อยลง จนแทบจะเรียกกัน ไม่ถูก ดังนั้น จึงอยากจะนำการ "ลำดับญาติของไทย” มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
คำว่า "ญาติ” มาจากภาษาบาลี อ่านว่า ยา-ติ ตามรูปศัพท์จะแปลว่า การรู้ หมายถึง ผู้ที่มีเชื้อสายเดียวกัน และยังนับรู้กันได้ แต่ไม่รวมพ่อ แม่ ลูก สามี และภรรยา ส่วนในภาษาไทยจะมีคำเรียกญาติหลายคำ เช่น ทวด ปู่ยา ตายาย ลุงป้า น้าอา และหลานเหลน เป็นต้น โดยจะนับพ่อแม่พี่น้องเป็นญาติสนิท และยังนับญาติของผู้ที่มาแต่งงานกับญาติคนหนึ่งคนใดของเราเป็นญาติเราด้วย เช่น พี่เขย น้าเขย น้องสะใภ้ อาสะใภ้ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึง ญาติที่มีอายุมากกว่า หรือมีลำดับศักดิ์สูงกว่า เช่น น้าอา ลุงป้า ปู่ยา ตายาย ทวด และเทียด เป็นต้น แต่ถ้าเป็นญาติผู้น้อย จะหมายถึง ญาติที่มีอายุน้อยกว่าหรือต่ำศักดิ์กว่า เช่น น้อง หลาน และเหลน เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้ เรายังคุ้นหูเพราะเคยได้ยินได้ฟังกันบ่อย และพอจะลำดับญาติได้ถูก แต่ปัจจุบันจากข้อมูลของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา จะแบ่งออกเป็น ๑๐ ชั่วคน (โคตร) หรือ ๑๐ รุ่นได้ ดังนี้
เริ่มงงแล้วใช่ไหมคะ อย่าเพิ่งงงค่ะ ส่วนใหญ่เวลานับ มักจะนับจาก ตัวลูกคือ หมาย ๕ เป็นหลัก ถือว่าเป็น "ตนหรือตัวเรา” จากนั้นนับจากตนขึ้นไปก็จะเป็น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และชั้นผู้ใหญ่ไปอีกคือ ปู่ทวด ย่าทวด ตาทวด ยายทวด จนไปถึงเชียดหรือเทียด จากนั้นนับจากตนลงไป ก็จะเป็น ลูก หลาน เหลน ถัดลงไปอีกก็เป็นชั้น ลื่อ ลืบ และลืด ซึ่งลำดับท้ายๆ เหล่านี้ เราจะไม่ค่อยเจอะเจอ เพราะส่วนใหญ่คนเราจะตายไปเสียก่อน จึงไม่เห็นลูกหลานลำดับหลังๆ และอายุเราก็มักไม่ยาวพอจะเป็นเชียดหรือเทียด ยกเว้นแต่ละรุ่นจะแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย จนเรามีชีวิตอยู่ทันให้เรียก และทันได้เห็น ลื่อ ลืบ และลืด
นอกจากสายตรงจากเชียดสู่ลืดแล้ว การนับเครือญาติของไทยยังนับญาติของผู้ที่เป็นพี่หรือน้องด้วย เช่น พี่ชาย พี่สาวของพ่อกับแม่ เรียก "ลุง-ป้า" น้องชาย-หญิงของพ่อ เรียกว่า "อา" น้องชาย-หญิงของแม่เรียก "น้า" ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นเดียวกับพ่อแม่เรา
ส่วนคำว่า "โหลน" ที่เราได้ยินจากเพลงปลุกใจที่ว่า "บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย......." นั้น เป็นการใช้คำไทโบราณในความหมายเดิม ส่วนปัจจุบันคำว่า "โหลน” ไม่มีปรากฎในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว โดยลูกของเหลน ใช้คำว่า "ลื่อ”
อ่านจนถึงตรงนี้ ก็ทราบแล้วนะคะว่า ๑๐ ชั่วโคตรหรือชั่วคนของไทยมีอะไรบ้าง มีคนบอกว่า ในอนาคตอันไม่ไกลนี้ คนรุ่นหลานหรือเหลนของเรา จะไม่มีลุง ป้า น้า อา แท้ๆ เพราะพ่อแม่ยุคใหม่ นิยมมีลูกชายหรือลูกสาวเพียงคนเดียว ทำให้ลูกชายหรือลูกสาวที่ว่านี้ ไม่มีพี่ หรือ น้อง ดังนั้น เมื่อพวกเขาแต่งงานไป พอมีลูกเป็นรุ่นต่อไป ลูกของเขาหรือเธอก็จะไม่มีลุง-ป้า หรือน้า-อาสายตรง เพราะพ่อหรือแม่เป็นลูกคนเดียว จึงไม่มีพี่ชายหรือน้องสาวจะให้หลานเรียกเป็นลุง-ป้า น้า-อา คิดง่ายๆ ว่า ถ้าตัวคุณเป็นลูกคนเดียวโดดๆของพ่อแม่ โดยไม่มีพี่น้องร่วมสายโลหิตเลย เมื่อคุณแต่งงานไป ลูกของคุณหรือหลานของพ่อแม่คุณ จะเรียกใครเป็นลุงป้า น้าอาได้หล่ะ ในเมื่อคุณไม่มีพี่น้องท้องเดียวกันเลย ยกเว้นจะไปเรียกลูกพี่ลูกน้องที่เป็นญาติทางพ่อหรือแม่แทน ซึ่งผิดกับคนยุคก่อน ที่แต่ละคนจะมีพี่น้องแยะ จึงมีทั้ง ลุงป้า น้าอาเป็นโขยงจนนับญาติกันไม่หวาดไม่ไหว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราก็คงจะมีแต่ลุงป้า น้าอาของคนอื่น หรือไม่ก็เหลือเพียงคำเรียกที่เด็กๆ เรียกเราว่า ลุงป้า น้าอา ตามใบหน้าหรือสังขารที่ปรากฏแทนเท่านั้น
ในภาษาไทยมีคำนับลำดับญาติ นับจากตนขึ้นไป คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และชั้นทวด คือ ปู่ทวด ย่าทวด ตาทวด ยายทวด. นับจากตนลงไป คือ ลูก หลาน เหลน. นอกจากนี้ยังมีการนับตามลำดับถัดจากเหลนลงไปอีก ๓ ชั้น คือ ลื่อ ลืบ และ ลืด ด้วย.
นอกจากสายตรงจากชั้นทวดลงมาถึงเหลนแล้ว ในระดับเครือญาติของไทยยังนับลำดับญาติของผู้ที่เป็นพี่หรือน้องด้วย พี่ของพ่อแม่ เรียกว่า ลุงและป้า. น้องของพ่อเรียกว่า อา. ส่วนน้องของแม่ เรียกว่า น้า.
พ่อแม่กับพี่น้องของพ่อแม่ จัดว่าอยู่ในระดับเดียวกัน. ลูกของพี่หรือน้องของพ่อแม่ ซึ่งควรจัดอยู่ในระดับเดียวกับลูกของพ่อแม่นั้นเรียกว่า หลาน. เมื่อเรียกว่า หลาน จึงทำให้รู้สึกว่าเป็นชั้นต่อจากลูกลงไป. ที่จริงลูกของหลานลุง หลานอา อยู่ในระดับเดียวกับหลานปู่ หลานย่า จึงควรเรียกว่า หลาน ไม่ใช่ เหลน