วิตามินบี 1 ร่างกายขาดอาจถึงตาย

1 ก.พ. 2559 เวลา 18:47 | อ่าน 6,717
 
อาหาร เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ประการซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิตของคนทุกคน นอกจากการรับประทานอาหารในปริมาณที่เพียงพอแล้ว การเลือกชนิดของอาหารที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อาหาร มีทั้งประโยชน์และโทษ การได้รับอาหารมากหรือน้อยเกินไปก็ทำให้เกิดผลเสียทั้งสิ้น อาหารประกอบด้วยสารอาหารหลักต่างๆ ได้แก่ แป้ง (carbohydrate) โปรตีน (protein) และไขมัน (fat) โดยที่แป้งและไขมันเป็นสารอาหารในกลุ่มที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย และโปรตีนเป็นสารอาหารที่ร่างกายนำไปสร้างเซลล์ใหม่ นอกจากสารอาหารหลักทั้ง 3 ชนิดที่ว่ามาแล้วนี้ ยังมีวิตามิน (vitamin) และเกลือแร่ (mineral) ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนเสริม (ไม่ให้พลังงาน) แต่มีความจำเป็นเพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตามพบว่า คนส่วนใหญ่มักละเลยการบริโภควิตามินและเกลือแร่อย่างเพียงพอ นำมาซึ่งความผิดปกติของร่างกายและโรคชนิดต่างๆ ที่อาจรุนแรงจนคาดไม่ถึง

เหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า วิตามินและเกลือแร่ในอาหารนั้นมีความสำคัญต่อร่างกายเราเป็นอย่างมาก เมื่อหลายปีที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง1 ลงข่าวการพบความผิดปกติของกลุ่มชาวประมงที่ออกหาปลานอกชายฝั่งเป็นระยะเวลานาน โดยมีชายชาวประมงจำนวน 11 รายเข้ารับการรักษาด้วยอาการบวมทั้งตัว หอบเหนื่อย หัวใจโต มีผู้เสียชีวิตจากอาการดังกล่าวนี้จำนวน 2 ราย เมื่อทำการสอบสวนหาสาเหตุพบว่า ชาวประมงกลุ่มนี้ออกทะเลไปหาปลานอกชายฝั่งนาน 17 เดือน ระหว่างที่อยู่กลางทะเลพวกเขารับประทานข้าวสวยและปลาทอดเป็นหลัก โดยไม่ได้รับประทานผักหรือผลไม้เลยในช่วง 5 เดือนก่อนที่จะมีอาการเหล่านี้ จากการตรวจระดับของวิตามินและเกลือแร่ในร่างกาย พบว่า ผู้ป่วยเหล่านี้มีระดับวิตามินบี 1 ต่ำกว่าปกติ และมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนหลังได้รับการรักษาด้วยการให้วิตามินบี 1 แก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ในเดือนมกราคม 2559 ก็มีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพบความผิดปกติในลักษณะเดียวกันนี้กับชาวประมง โดยเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย2 ซึ่งในขณะที่เขียนบทความนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทั้งสองเหตุการณ์นี้นับเป็นสัญญาณที่กำลังเตือนเราว่า เราควรต้องหันมาให้ความสำคัญกับปริมาณวิตามินที่รับประทานในแต่ละวันกันมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

วิตามินบี 1 ร่างกายขาดอาจถึงตาย

วิตามิน (vitamin) มีด้วยกันหลายชนิด แบ่งตามความสามารถในการละลายน้ำได้เป็น วิตามินที่ละลายน้ำ ได้แก่ วิตามินบี และวิตามินซี ส่วนวิตามินที่เหลือ (วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินอี, วิตามินเค) ละลายได้ในไขมัน ในที่นี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดเฉพาะวิตามินบีซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดปกติที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น อันที่จริงแล้ว วิตามินบี มีชนิดย่อยๆ หลายชนิด ได้แก่ วิตามินบี 1 (thiamine: ไธอามีน), วิตามินบี 2 (riboflavin: ไรโบฟลาวิน), วิตามินบี 6 (pyridoxine: ไพริด็อกซีน), วิตามินบี 12 (cyanocobalamine: ไซยาโนโคบาลามีน) ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีแหล่งที่พบมาก และหน้าที่ในการทำงานต่อร่างกายที่ต่างกันไป

วิตามินบี 1 ร่างกายขาดอาจถึงตาย


วิตามินบี 1 (thiamine: ไธอามีน)3 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ดังนั้น หลังจากรับประทานแล้ววิตามินชนิดนี้จะอยู่ในร่างกายไม่นานนัก หลังจากนั้นจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางไตแล้วขับออกไปกับปัสสาวะ ไม่เก็บสะสมไว้ในร่างกายและมนุษย์ไม่สามารถสร้างวิตามินชนิดนี้ได้เอง เราจึงต้องการวิตามินบี 1 จากอาหารที่รับประทานอย่างสม่ำเสมอ หน้าที่หลักๆ ของวิตามินชนิดนี้คือ ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ (coenzyme) ของการสร้างพลังงานในร่างกาย โดยเฉพาะการเผาเผลาญแป้ง ช่วยให้เกิดการสร้างพลังงานให้แก่อวัยวะต่างๆ ได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อประสาทอีกด้วย แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 1 ในปริมาณมาก ได้แก่ ข้าวกล้อง ถั่ว งา จมูกข้าวสาลี นมถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน และเนื้อหมู

วิตามินบี 1 ร่างกายขาดอาจถึงตาย

โดยทั่วไป หากเรารับประทานอาหารตามปกติมักไม่ค่อยขาดวิตามินบี 1 แต่มักพบปัญหาการขาดวิตามินบี 1 ในกลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารแตกต่างไปจากปกติ4 เช่น

● กลุ่มคนที่มีข้อจำกัดเรื่องชนิดของอาหารเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ผู้ลี้ภัยหรืออาศัยในค่ายอพยพ ชาวประมงที่ออกเรือเป็นเวลานานๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่สามารถเลือกชนิดอาหารได้ตามต้องการเนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เป็นใจ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการเก็บอาหารชนิดผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์อีกด้วย จึงมักพบว่า อาหารที่กลุ่มคนเหล่านี้รับประทานจะเป็นอาหารจำพวกแป้งเป็นหลัก ซึ่งเป็นอาหารที่มีวิตามินบี 1 น้อย แต่ร่างกายต้องใช้วิตามินบี 1 ในการเผาผลาญแป้งในปริมาณมาก สุดท้ายจึงทำให้เกิดการขาดวิตามินบี 1

● ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีโอกาสขาดวิตามินบี 1 เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลยับยั้งการดูดซึมของวิตามินบี 1 ที่บริเวณลำไส้เล็ก5 นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมักรับประทานอาหารโดยภาพรวมลดลง ทำให้ได้รับวิตามินบี 1 จากอาหารน้อยลงตามไปด้วย

● ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีสารต้านไธอามีน (anti-thiamine factors)6 สารนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเมื่อเข้าไปในร่างกาย จะทำปฏิกิริยากับไธอามีน เกิดเป็นสารประกอบที่ไม่สามารถทำงานได้ ร่างกายจึงขาดไธอามีน ส่วนสารอีกชนิดหนึ่งนั้นสามารถทำลายไธอามีนได้โดยตรง ตัวอย่างอาหารที่มีสารต้านไธอามีนอยู่มาก ได้แก่ หมาก, ปลาดิบ, หอยดิบ และอาหารที่ผ่านการหมักแล้วมีการเจือปนของ mycotoxin ต่างๆ (mycotoxin คือสารพิษจากเชื้อรา)

● หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงดังกล่าวนี้เป็นสภาวะที่ร่างกายของแม่ต้องการใช้พลังงานสูงมาก จึงมีความต้องการใช้ไธอามีนซึ่งเป็นโคเอนไซม์ในปฏิกิริยาการสร้างพลังงานจากอาหารมากขึ้นด้วย ดังนั้นหากรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 เท่าเดิมก็จะมีโอกาสเกิดการขาดวิตามินบี 1 ได้

กลุ่มอาการที่เกิดจากการขาดไธอามีน มีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า beriberi (เบอริ-เบอรี่) อาการและอาการแสดงในผู้ที่ขาดไธอามีนมักเกี่ยวข้องกับระบบประสาทและหัวใจ7 ซึ่งมีอาการดังนี้
● อาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทผิดปกติ (dry beriberi) มักมีอาการชาตามมือและเท้า (numbness) อาจมีการรับความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไป รู้สึกเหมือนมีแมลงไต่ตลอดเวลาทั้งที่ความจริงไม่มี (paresthesia) นอกจากนี้อาจรุนแรงถึงขั้นกล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีการรับรู้สติที่เปลี่ยนแปลงไป (alteration of consciousness)

● อาการที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดผิดปกติ (wet beriberi) มักพบอาการคั่งน้ำ เกิดการบวมของแขนขาและอวัยวะต่างๆ อาจพบความดันโลหิตต่ำ น้ำท่วมปอด และบางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลวหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

● ในบางรายอาจพบความผิดปกติร่วมกันทั้งระบบประสาทและหัวใจเลยก็ได้


ผู้ป่วยที่เป็น beriberi ควรได้รับการรักษาด้วยการให้ไธอามีนเสริม ซึ่งมักเป็นชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อความแน่นอนของขนาดยาที่ร่างกายจะได้รับและมีความรวดเร็วทันท่วงที8 หากสาเหตุของความผิดปกติมาจากการขาดไธอามีนจริง ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนภายในระยะเวลาไม่นาน หลังจากผ่านช่วงวิกฤติไปแล้ว ผู้ป่วยจะต้องรับประทานไธอามีนชนิดเม็ดเสริมเป็นระยะเวลา 1 เดือน และควรทำการหาสาเหตุของการขาดไธอามีนในผู้ป่วยรายนั้นให้พบแล้วทำการแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับมาป่วยด้วย beriberi อีกในอนาคต

โดยทั่วไป การรับประทานไธอามีนในช่วง 1 เดือนหลังจากรับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วนั้น แนะนำให้รับประทานไธอามีน 5-30 มิลลิกรัมต่อวัน8 โดยอาจรับประทานวันละ 1-3 ครั้ง ผลิตภัณฑ์ยาที่มีไธอามีนเป็นส่วนประกอบนั้นมีอยู่มากมาย ซึ่งจะมีทั้งชนิดที่เป็นไธอามีนเดี่ยวๆ และชนิดที่มีวิตามินหลายชนิดอยู่รวมกัน การเลือกชนิดยาและปริมาณที่จะใช้ให้เพียงพอต่อการทดแทนไธอามีนในผู้ป่วยจึงควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในแต่ละสถานพยาบาลเพื่อให้ได้ปริมาณของไธอามีนตามที่ต้องการ

บทสรุป: อาหารมีความสำคัญไม่ใช่เพียงแค่ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่การรับประทานอาหารที่มีสัดส่วนเหมาะสมยังช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ ไร้โรคภัย ดังนั้น การรับประทานอาหารตามความเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไปจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังคำของ Hippocrates นักปราชญ์ชาวกรีกได้กล่าวไว้ว่า “Let food by thy medicine and medicine be thy food” แปลเป็นไทยง่ายๆว่า “รับประทานอาหารให้เป็นยา และรับประทานยาจากอาหาร” นั่นเอง


โดย
ผู้ช่วยอาจารย์ เภสัชกรหญิง วิภารักษ์ บุญมาก
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


อ้างอิง 1. MRG online. เตือนโรคร้าย “เบอริ-เบอรี่” หัวใจโต-อวัยวะเพศบวม ชาวประมงตายแล้ว 2 คน. 2548; [cited 2016 Jan 17]. Available from: http://astv.mobi/ACvVc9C 2. ไทยรัฐออนไลน์. ขาดวิตามินบี 1 อัมพาตถึงตาย. 20 มกราคม 2559;[cited 2016 Jan 21]. Available from: http://www.thairath.co.th/content/564777 3 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. [cited 2016 Jan 17]. Available from: http://nutrition.anamai.moph.go.th/b1.htm 4. World Heath Organisation. Thiamine deficiency and its prevention and control in major emergencies. 1999;3:1-52.
5. Hoyumpa AM Jr. Mechanism of thiamine deficiency in chronic alcoholism. Am J Clin Nutr. 1980 Dec;33(12):2750-61.
6. Higdon J. Thaimin. 2013 (latest updated by Delage B.); [cited 2016 Jan 17]. Available from: http://lpi.oregonstate.edu/mic/vitamins/thiamin 7. Attas M, Hanley HG, Stultz D, Jones MR, McAllister RG. Fulminant beriberi heart disease with lactic acidosis: presentation of a case with evaluation of left ventricular function and review of pathophysiologic mechanism. Circulation. 1978 Sep;58(3 Pt 1):566-72.
8. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL, et al. Drug Information Handbook with international trade names index.18th ed. Ohio: Lexi-comp, Inc;2009:1571.

รูปประกอบ ibio.co.th
siampill.com
www.manager.co.th


1 ก.พ. 2559 เวลา 18:47 | อ่าน 6,717


รีวิวบ้านใหม่ ไอเดียสร้างบ้าน
 
แชร์
L
ซ่อน
แสดง
มาใหม่
“รัดเกล้า” เผย มาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ธ.ก.ส. ให้วงเงินกู้เกษตรกรครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หวังช่วยเกษตรกร ได้ราคาสูง คุณภาพแป้งดี
7 21 พ.ค. 2567
ดวงกับดาวประจำวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2567
65 20 พ.ค. 2567
ดวงกับดาวประจำวันที่ 12-18 พฤษภาคม 2567
39 14 พ.ค. 2567
คารม เผยข่าวดีแรงงานไทย เปิด รับสมัครคนทำงานมาเก๊า 46 ตำแหน่ง สวัสดิการดี เงินเดือนสูง สมัครด่วนถึง 22 พ.ค 67
693 12 พ.ค. 2567
ลงทะเบียนบริการล้างแอร์ฟรี รัฐบาลเชิญชวน ปชช. ลงทะเบียนบริการล้างแอร์ฟรี ผ่านโครงการ อาชีวะล้างแอร์
166 11 พ.ค. 2567
นายกฯ สั่งการก.คลัง ดีเดย์ด่านOne stop service หนองคายทดลอง1ก.ย.นี้ลดขั้นตอนส่งสินค้าไปลาวและจีนพร้อมสั่งกรมโรงงานเร่งพิจารณาออกใบอนุญาต รง.4
80 8 พ.ค. 2567
ดวงกับดาวประจำวันที่ 5 – 11 พฤษภาคม 2567)
238 5 พ.ค. 2567
จอดพักรถ เปิดฝากระโปรงหน้า ไว้ ดีจริงเหรอ?
89 4 พ.ค. 2567
​พรุ่งนี้ดีเดย์!! 1 พฤษภาคม วันขึ้นเงินเดือนข้าราชการและ ขึ้นเงินบำนาญขั้นต่ำ
1,788 30 เม.ย. 2567
นายกฯ ชื่นชมมาตรการสถาบันการเงินของรัฐ ขานรับนโยบายประกาศลดดอกเบี้ย 0.25% ช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบาง เป็นระยะเวลานาน 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567
239 27 เม.ย. 2567
ดูเพิ่มเติม
 
หาเพื่อนไลน์
ซื้อขายรถบ้าน.com
เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์
หางานราชการ
  English
TOEIC กับ การขึ้นเงินเดือน GED VS กศน ไทย (สอบเทียบไทย) แนะนำที่เรียน IELTS ยอดนิยม ของ เด็กอินเตอร์ TOEIC Online GED CU-TEP SAT
 
บทความกลุ่มเดียวกัน