วันที่ 7 เมษายน 2560 นายปรีชา สุขรอด ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) แพร่ ในฐานะ ก.จ.กลาง และ คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสถ.จำนวน 19 คน มีมติให้นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิ ก.อบต. กลาง ทำหน้าที่ประธาน กสถ. ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ( สถ.) ทำหน้าที่รองประธาน จากนั้นจะนำมติดังกล่าวเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ลงนามแต่งตั้ง เพื่อเดินหน้าจัดสอบบรรจุข้าราชการและพนักงานท้องถิ่น หลังจากก่อนหน้านี้ที่ประชม ก.กลาง มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเข้ารับราชการ พ.ศ.2560 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 เพื่อขึ้นบัญชีผู้สอบผ่าน ใช้บรรจุแต่งตั้งใน อบจ. อบต. และ เทศบาล ตามเขตที่สอบ 10 เขต จำนวน 84 ตำแหน่ง เดิมมีเพียงตำแหน่ง 14,653 อัตรา แต่ผลสำรวจล่าสุดจะมีการบรรจุในอัตราว่างกว่า 2,1000 อัตรา และการจัดสอบดังกล่าวคาดว่าจะมอบหมายมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตเป็นผู้ออกข้อสอบและดำเนินการจัดสอบทั้ง 10 เขต เช่นเดียวกันการสอบบรรจุเมื่อปี 2556 สำหรับการสอบครั้งนี้คาดจะเปิดรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต ช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม นี้ จะมีผู้สนใจสมัครสอบกว่า 7 แสนราย
นายปรีชากล่าวว่า สำหรับมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสอบแข่งขัน จะมีการสอบแข่งขันและการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ให้แบ่งออกเป็น 10 เขตทั่วประเทศ ส่วนหลักสูตรการสอบแข่งขัน ให้มีการทดสอบ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง หรือภาค ข และ สอบสัมภาษณ์ ภาค ค มีคะแนนภาคละ100 คะแนน
“
ทั้งนี้ภาค ก สำหรับผู้สมัครสอบด้วยวุฒิปริญญาตรี จะมีการทดสอบการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อให้ข้อสอบมีการวัดผลเทียบเท่ามาตรฐานการสอบของสำนักงาน ก.พ. บัญชีผู้สอบแข่งขัน ได้ใช้ได้ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันประกาศ บัญชีผู้สอบแข่งขันได้หากเขตใดเรียกบรรจุหมดแล้ว อาจไปใช้บัญชีเขตอื่นได้ ส่วนผู้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งแล้ว ต้องดำรงในตำแหน่งใน อปท นั้นอย่างน้อย 2 ปี ไม่มีข้อยกเว้น จึงจะขอโอนย้ายไปที่อื่นได้เพื่อป้องกันการวิ่งเต้น หรือการเวียนเทียนในการรับบรรจุตำแหน่งเดิม เป็นช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์” นายปรีชา กล่าว
ด้านนายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ )
กล่าวว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาสั่งจำคุกผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตจากการเรียกรับสินบนในการจัดสอบบรรจุข้าราชการท้องถิ่นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นมหกรรมการโกงครั้งใหญ่ในการจัดสอบ และต่อมามีอีกหลายพื้นที่ที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันมีปัญหามานานหลายหลายปี และ คสช.เพิ่งยึดอำนาจการจัดสอบมาไว้ที่ส่วนกลาง แต่กระบวนการต่างๆในการสอบสวนข้อเท็จจริงในจังหวัดที่มีปัญหามีความล่าช้า เนื่องจากในวงจรการทุจริตมีผลประโยชน์สูงมากและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย
อ่านต่อ
http://www.matichon.co.th/news/522443