จากนโยบายเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และสถานการณ์ด้านพลังงานที่มีความเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
จึงกำหนดให้มีการทบทวนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในทุก ๆ 3 – 5 ปี เพื่อให้การใช้ไฟฟ้าของทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม โดยขณะนี้กำลังเข้าสู่วาระการทบทวนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ประจำปี 2561 - 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเก็บข้อมูลโดยการจำแนก
ต้นทุนของแต่ละกิจการตามพื้นที่ในระดับภาคและระยะทาง ทั้งกิจการผลิต กิจการระบบส่ง กิจการระบบจำหน่าย และกิจการค้าปลีก ให้มีความชัดเจน โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยการเก็บข้อมูลและศึกษาต้นทุนนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นโยบายโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นไปตามความเหมาะสมของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และส่งเสริมความเสมอภาคของประชาชนในทุกภูมิภาค โดยจะกำหนดให้เป็นอัตราเดียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเดียวกัน (Uniform Tariff) ยกเว้นธุรกิจบนเกาะ และผู้ใช้ไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับโครงข่ายระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศ
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ชี้แจงว่า การทบทวนหรือปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้า
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษา และสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ให้มีการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนประกาศปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ รวมทั้งศึกษาผลกระทบที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ เพื่อกำหนดว่าแต่ละพื้นที่ของประเทศควรจะดำเนินการอย่างไร อนึ่ง
ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด จึงไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่กล่าวกันว่า ผู้ประกอบการอาจถูกเก็บค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงกว่าบ้านเรือนทั่วไป
ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ประกอบการเป็นสำคัญ
ภาพ/ข่าว : กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษก