ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เทศกาลยื่นภาษีประจำปีภาษี 2561 นะคะ คงเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับมนุษย์เงินเดือนหลายๆ คน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ยิ่งต้องมายื่นภาษีเป็นปีแรกด้วยก็อาจจะมีคำถามมากมาย…วันนี้เราจะมาสอนวิธีการยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต ง่ายๆ ทำตามได้ไม่ยาก!! มาติดตามกันเลยค่ะ
ใครต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบ้าง ?
ตามกฎหมายกำหนดว่า บุคคลทุกคน เว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ มีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษี หากเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้เกินกว่า 120,000 บาท/ปี (สำหรับคนโสด) หรือมีเงินได้เกินกว่า 220,000 บาท/ปี (สำหรับคนมีคู่สมรส)
2. กรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน ที่มีเงินได้เกินกว่า 60,000 บาท/ปี (สำหรับคนโสด) หรือมีเงินได้เกินกว่า 120,000 บาท/ปี (สำหรับคนมีคู่สมรส)
หากเข้าเงื่อนไขข้างต้น ไม่ว่ารายได้จะถึงเกณฑ์เสียภาษีหรือไม่ ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามกฎหมาย!!
ยื่นภาษีได้ถึงวันไหน ?
ปัจจุบันการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทำได้ง่ายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยในปีภาษี 2561 เราสามารถยื่นภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ตั้งแต่
วันที่ 1 มกราคม 2562 – 9 เมษายน 2562
ก่อนยื่นภาษีต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ?
1. หนังสือรับรองเงินเดือนและการหักภาษี (50 ทวิ) หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งได้รับจากนายจ้าง โดยในเอกสารก็จะมีรายละเอียดว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ ? จ่ายค่าประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าไหร่ ?
2. ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น
● ทะเบียนสมรส
● เอกสารรับรองบุตร
● หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา
● หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ
● เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา
3. ค่าลดหย่อนส่วนตัว เช่น
● หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต
● เอกสารจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพ
● ใบเสร็จรับเงินบริจาค
● ใบกำกับภาษีจากการซื้อของช่วงช็อปช่วยชาติ
● ใบกำกับภาษีจากการเที่ยวเมืองรอง
● หนังสือรับรองการซื้อกองทุน LTF RMF
ได้ทั้งลงทุนและสามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วยนะคะ
LTF : ลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ต่อปี และไม่เกิน 500,000 บาท
RMF : ลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีนั้น และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
สามารถซื้อทุกกองทุนออนไลน์ได้ครบ จบที่เดียว 11 บลจ. อ่านเพิ่มเติม คลิกที่รูปได้เลย!!

สมัครบริการพร้อมเพย์ก่อนทำการยื่นภาษี
กรณีที่คิดว่าจะได้เงินภาษีคืน หากอยากได้เงินคืนแบบรวดเร็วทันใจควรสมัครบริการพร้อมเพย์และทำการผูกบัญชีเข้ากับเลขบัตรประชาชนของเราให้เรียบร้อยก่อนทำการยื่นภาษี แต่สำหรับใครที่ไม่ประสงค์สมัครบริการพร้อมเพย์ก็ยังได้ภาษีคืนนะคะ เพียงแต่จะได้เป็นเช็คทางไปรษณีย์เท่านั้นค่ะ
วิธีการยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง
1.
เข้าไปที่ www.rd.go.th ของกรมสรรพากร และเลือก “ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต”
2.
เลือก “ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91”
3.
ระบุหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านที่ตั้งไว้ (หากยังไม่เคยลงทะเบียนให้คลิกลงทะเบียนก่อน)
4. หลังจากที่ log in เข้าระบบเรียบร้อยแล้ว จะมีข้อมูลที่เรากรอกไว้ตอนลงทะเบียนปรากฎอยู่
หากพบข้อมูลผิดพลาดให้ดำเนินการแก้ไข เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ให้คลิก “ทำรายการต่อไป”
5.
หน้าหลักจะปรากฎข้อมูลของเราอยู่ทางซ้ายมือ
● เลือกสถานภาพของผู้มีเงินได้ (ตามกฎหมาย)
● เลือกสถานะการยื่นแบบ
6.
เลือกประเภทเงินได้และค่าลดหย่อน ต้องเลือกให้ครบว่าเงินได้ประเภทใดบ้าง ซึ่งโดยปกติ มนุษย์เงินเดือนก็จะต้องเลือก มาตรา 40(1) เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง บำนาญ โบนัสฯ เป็นหลัก และอย่าลืมเลือกค่าลดหย่อนที่ด้านขวามือให้ครบด้วยนะคะ
7.
กรอกข้อมูลรายละเอียดเงินได้และค่าลดหย่อนตามที่เราเลือกมา โดยระบุเงินได้พึงประเมิน พร้อมทั้งจำนวนภาษีที่บริษัทหัก ณ ที่จ่าย หากมีเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ให้กรอกตัวเลขนั้นด้วย ส่วนช่องเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ให้กรอกเลขภาษีของบริษัทที่จ่ายเงินให้เรา
8.
กรอกข้อมูลการลดหย่อนต่างๆ ที่เตรียมไว้
9.
ระบบจะคำนวณภาษีให้เราอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตามเราจะต้องตรวจสอบความถูกต้องว่ารายการตกหล่นหรือไม่
ซึ่งหน้านี้จะมีสิ่งที่ต้องเช็คอยู่ 2 จุด คือ
●
เลือกว่าจะบริจาคภาษีที่ชำระ ให้พรรคการเมืองหรือไม่
●
หากมีการเสียภาษีเกิน 3,000 บาท สามารถเลือกผ่อนได้ 3 งวด
10.
ยืนยันการยื่นแบบ หากไม่มีข้อผิดพลาดอะไรก็คลิก “ยืนยันการยื่นแบบ” ได้เลย
เป็นอย่างไรบ้างคะ ขั้นตอนการยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตฉบับมนุษย์เงินเดือนที่ไม่ว่ามือเก่าหรือมือใหม่ก็สามารถทำตามได้ไม่ยาก หรือท่านไหนที่ไม่สะดวกทำผ่าน PC ก็สามารถยื่นแบบผ่านแอพพลิเคชั่น RD Smart Tax ได้เช่นกันค่ะ รู้แล้วก็รีบทำนะคะเพราะยิ่งยืนภาษีไวเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เงินคืนเร็วเท่านั้นค่ะ
ข้อมูลจาก ความรู้ของนักลงทุนธนาคารกรุงเทพ