ค่ายรถ แจกโบนัสกระหน่ำ 8.5 เดือน โทรคมนาคม 4-7.5 เดือน ตามไปดูโบนัส 6 กลุ่มธุรกิจ
ธุรกิจขนาดใหญ่ 6 กลุ่ม ประกาศแจก "โบนัส" ส่งท้ายปีมังกรทอง "ค่ายรถ" นำโด่ง 8.5 เดือน "เครือซีพี" ยึดมาตรฐาน 2 เดือน รัฐวิสาหกิจกลุ่มโทรคมนาคมและคมนาคม แจก 4-7.5 เดือน และ ธุรกิจสื่ออยู่ในเกณฑ์ 1-2 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผลจากเศรษฐกิจในประเทศส่งสัญญาณดีขึ้นตามลำดับมาช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ 6 กลุ่ม ประกาศจะจ่ายโบนัสพนักงานประจำปี 2555 ประกอบด้วย กลุ่มแรก ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและค้าปลีก กลุ่ม 2 ธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์ กลุ่ม 3 ธุรกิจก่อสร้างและคมนาคม กลุ่ม 4 ธุรกิจโทรคมนาคม กลุ่ม 5 ธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และ กลุ่ม 6 ธุรกิจสื่อ
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ "ซีพีเอฟ" เปิดเผยว่า ปีนี้ยังคงถือหลักปฏิบัติมาตรฐานการจ่ายโบนัสพนักงานเหมือนทุกปีที่ผ่านมา ในอัตราเฉลี่ยคนละ 2 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากการทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ของพนักงานทุกคน ทำให้ซีพีเอฟสามารถมีผลประกอบการปี 2555 ทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 3.5-3.6 แสนล้านบาท แนวโน้มปี 2556 ก็พยายามตั้งเป้าหมายรายได้จะเติบโตเพิ่มอีก 15-20 %
โดยภาพรวมรายได้ของซีพีเอฟปีนี้จะมาจากในประเทศ 1.3-1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 37 % และ การส่งออกอีก 30,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากการลงทุนที่อยู่ในต่างประเทศประมาณ 2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ซีพีเอฟมีแผนการลงทุน 5 ปีหน้า ระหว่าง ปี 2555-2559 จะใช้เงิน 75,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนรายได้ปีต่อไปเติบโตตามเป้าหมายและสามารถจ่ายโบนัสพนักงานต่อเนื่องทุกปี
ขณะที่กลุ่มธุรกิจผลิตรถยนต์สร้างความคึกคักตามกระแสเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศที่เห็นได้ชัดจากงาน "มอเตอร์ เอ็กซโป 2012" ที่เพิ่งปิดฉากลงเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทั้ง 38 ค่ายรถ มีลูกค้าจองรถถล่มทลายกว่า 87,366 คัน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 76,000 ล้านบาท เกินเป้าหมายทั้งจำนวนยอดจองและรายได้
มีรายงานจากผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ระบุว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด น่าจะเป็นผู้นำการจ่ายโบนัสพนักงานสูงเป็นอันดับ 1 ตลอดทั้งปีอาจถึง 8.5 เดือน สอดคล้องกับยอดขายในงานมอเตอร์ เอ็กซโป ปีนี้ทำสถิติขายได้กว่า 18,000 คัน หลังจากครึ่งปีแรกจ่ายไปแล้ว 4 เดือน
ค่ายมิตซูบิชิ มีแนวโน้มจะจ่ายโบนัสรองจากโตโยต้า คือ 7 เดือน ตามมาด้วย ฮอนด้า จ่าย 4.5 เดือน ส่วนค่ายอื่น ๆ อย่าง ฟอร์ด มาสด้า นิสสัน ต้องรอปิดปีงบประมาณเดือนเมษายนหน้า
สำหรับกลุ่มธุรกิจรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ยามาฮ่าเป็นค่ายมาแรงอาจจะจ่ายสูงสุดถึง 5 เดือน สำหรับค่ายอื่น ๆ ก็จะจ่ายด้วยเช่นกันแต่ไม่เกิน 2 เดือน
กลุ่มธุรกิจคมนาคมและการก่อสร้าง โดยเฉพาะในกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ "ทอท." ประกาศจะจ่าย 7.5 เดือน รวมถึง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ สายการบินนานาชาติในประเทศไทย กำลังถูกจับตาว่าอาจจะจ่ายโบนัสขั้นต่ำ 2 เดือน
นอกจากนี้ก็ยังมีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งปีนี้ทำรายได้สูงถึง 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1,000 ล้านบาท ดังนั้นทางผู้บริหารอยู่ระหว่างการพิจารณาจะจ่ายถึง 5 เดือน ได้หรือไม่
กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) รายงานถึงมาตรฐานการจ่ายโบนัสพนักงานในแต่ละปีที่ผ่านมา จะขึ้นอยู่กับการเติบโตของผลประกอบการ โดยจ่ายอย่างน้อยปีละ 1 เดือน
กลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะสรุปภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันที่ 12 ธันวาคม นี้ ว่าจะมีมติอนุมัติให้จ่ายโบนัส 4 เดือน หรือไม่ เช่นเดียวกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟว์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่จะจ่ายตามมาตรฐาน 4 เดือน ช่วงกุมภาพันธ์ของทุกปี
สำหรับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีกระแสข่าวว่า วันที่ 18 ธันวาคม นี้ พร้อมจะจ่ายโบนัสพนักงานคนละ 1 เดือน
กลุ่มธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์มีรายงานว่าจะใช้มาตรฐานเหมือนทุกปี คือจ่ายโบนัส 2-3 เดือน เนื่องจากยอดขายโดยรวมตลอดทั้งปีเป็นบวก
ขณะที่ ธุรกิจกลุ่มสื่อ อย่าง บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ประกาศจ่ายโบนัส 2 เดือน และ ธุรกิจสื่อค่ายอื่น ๆ ก็มี เนชั่นกรุ๊ป จะจ่ายไม่ต่ำกว่า 1 เดือน เดลินิวส์ 3-4 เดือน
ขอมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:55:47 น.