กทค.ประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านตรวจสอบคุณสมบัติ ระบุ 3 บริษัท ผ่านหมด ยัน 16 ต.ค.55 ได้ประมูล 3จี ชี้หากมีการฟ้องร้องพร้อมชี้แจง
วันนี้ (9ต.ค.)ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เปิดเผยว่า ได้สรุปผลการพิจารณาเอกสารผู้เข้ามาขอยื่นเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ หรือประมูล 3 จี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.55 ปรากฏว่าทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือ เอไอเอส , บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือ ดีแทค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ บริษัทในเครือ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ผ่านคุณสมบัติการตรวจสอบเอกสารตามที่สำนักงานกสทช.กำหนด โดยได้ส่งหนังสือเพื่อแจ้งผู้ประกอบการทั้ง 3 รายให้ทราบแล้ว
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ทั้ง 3 รายมีคุณสมบัติครบ คือ ไม่มีความเกี่ยวโยงกับรายอื่น ไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่เป็นบริษัทย่อย ไม่เป็นบริษัทร่วม และไม่ถือหุ้นไขว้กับรายอื่น ส่วนกรณีมีผู้ประกอบการ 3 รายก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแก้ใดๆ เนื่องจากกฎระเบียบเป็นแบบสากลที่ยอมรับเป็นการทั่วไป ส่วนการประมูล 3 จีครั้งนี้จะเกิดการแข่งขันอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้ประกอบการที่ได้ราคาสูงสุดจะมีสิทธิ์เลือกที่อยู่ของย่านความถี่ให้เหมาะสมประกอบธุรกิจของภาคเอกชน โดยในขณะนี้ยังไม่ทราบเรื่องอุทธรณ์ หากมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับประมูล 3 จี กทค.พร้อมชี้แจ้งข้อมูล และสามารถต่อสู้ในชั้นศาลได้ แต่หากมีการพิสูจน์แล้วพบว่าการประมูลครั้งนี้ไม่มีความผิด ผู้ที่ฟ้องร้องต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
“การประมูลคลื่นความถี่ ไม่เหมือนกับการประมูลรถ ส่วนความกังวลว่ามีผู้ประกอบการ 3 ราย นั้นต้องเข้าใจสภาพอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านระบบสัญญาสัมปทานไปสู่การออกใบอนุญาตรูปแบบการประมูล และยืนยันว่าการประมูลรูปแบบวิธีการนี้ มีการแข่งขันแน่นอน”พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์
รายงานข่าว แจ้งว่า การแถลงข่าววันนี้ของ กสทช. ไม่มีการพูดถึงผลประโยชน์สูงสุดที่คนไทยจะได้รับ ดังนั้นพรุ่งนี้ (10 ต.ค.) เวลา 10.00 น. ดร.อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม จะเดินทางไปศาลปกครองเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลและขอให้ศาลสั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระงับการประมูล 3จีไปก่อน เนื่องจากเห็นว่าประชาชนยังไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยยก 4 ประเด็นตัวอย่าง คือ 1. ไม่มีข้อกำหนดที่พูดถึงคุณภาพของสัญญาณในการให้บริการ ว่า ประชาชนจะได้ใช้คลื่นความถี่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น ความเสถียร หรือความเร็ว ซึ่งผู้ให้บริการจะกำหนดอย่างไรก็ได้ และในตลาดการแข่งขันก็ย่อมเอาเปรียบ และไม่เกิดการแข่งขัน ประชาชนไม่มีทางเลือก 2. กสทช.ไม่มีข้อกำหนดด้านราคา ว่า การให้บริการด้านข้อมูลนั้นผู้ให้บริการจะต้องเก็บค่าบริการ ในอัตราสูงสุดเท่าไหร่ 3.เรื่องเงื่อนไขการบริการสำหรับผู้ด้อยโอกาส เมื่อผู้ให้บริการเปิดให้บริการแล้ว จะต้องเปิดให้บริการกับผู้ด้อยโอกาส หรือ คนยากจนในชนบท และ4. กสทช. ไม่มีระเบียบใดๆ กำหนดรายได้จากการประมูลที่ชัดเจน ว่าจะนำประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างไร
ข้อมูลจาก
http://www.dailynews.co.th