วันนี้ (22 มิถุนายน 2565) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ "ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” รวมทั้งกำหนดประเด็นต่างๆ ในการแก้ปัญหา โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้นำนโยบายไปปฎิบัติเกิดผลเป็นรูปธรรมผ่านโครงการ และมาตรการต่าง ๆ ส่งผลให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน คลายความกังวล และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นางสาวรัชดาฯ กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส. ) เป็นอีกสถาบันการเงินของรัฐที่เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารหนี้ในระดับจังหวัดและสาขา เพื่อเข้าไปดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดโครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท และโครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน ปีบัญชี 2565 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่มีหนี้สินเป็นภาระหนักโดยลดดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและ COVID-19
สำหรับปีบัญชี 2565 โครงการฯมุ่งเน้นเกษตรกร บุคคล กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล รวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งเป็นลูกค้าที่สามารถชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยได้ปกติหรือมีหนี้ค้างชำระ ไม่เกิน 3 เดือน ที่มีหนี้คงเหลือ ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 (ยกเว้นหนี้เงินกู้โครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล) ให้มีแรงจูงใจในการชำระหนี้ตามกำหนดเวลา โดยธนาคารจะคืนดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากลูกค้าโดยตรงในวันถัดไป วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรบุคคล รับดอกเบี้ยคืน อัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 1,000 บาท และกลุ่มเกษตรกร นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รับดอกเบี้ยคืน อัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง สะสมไม่เกิน 3,000 บาท และกรณีกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ สะสมรายละไม่เกิน 10,000 บาท
ส่วนโครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน มุ่งเน้นให้เกษตรกรและบุคคล กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล รวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (Non - Performing Loan - NPL) หรือหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีสถานะรับรู้รายได้ดอกเบี้ยค้างรับเกณฑ์เงินสด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 หรือลูกหนี้ที่ออกจากโครงการพักชำระหนี้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ครบกำหนด โดยมีอัตราในการลดดอกเบี้ย ได้แก่ 1) ลดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นเป็นรายสัญญา 2) กรณีชำระดอกเบี้ยได้เสร็จสิ้น ลดดอกเบี้ยร้อยละ 30 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง 3) กรณีชำระดอกเบี้ยบางส่วน ลดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง สำหรับเกษตรกรและบุคคล ในกรณีที่เป็นลูกหนี้กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล รวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง