สธ.-กทม.ยันจัดบริการวัคซีนโควิดต่อเนื่อง ไม่มีค่าใช้จ่าย หลัง 1 ต.ค.นี้เข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

30 ก.ย. 2565 เวลา 19:41 | อ่าน 342
 

กระทรวงสาธารณสุข และ กทม.ยังจัดบริการวัคซีนโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ไม่มีค่าใช้จ่าย แม้ 1 ตุลาคมนี้ปรับ “โควิด” เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลทุกระดับ หากมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนพร้อมเร่งฉีดวัคซีนควบคุม ย้ำกลุ่ม 608 ไม่ปลอดภัย หากไม่รับเข็มกระตุ้น ช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต


สธ.-กทม.ยันจัดบริการวัคซีนโควิดต่อเนื่อง ไม่มีค่าใช้จ่าย หลัง 1 ต.ค.นี้เข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

วันนี้ (30 กันยายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และพญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการบริหารจัดการวัคซีน เมื่อโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

นพ.ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ประมาณ 144 ล้านโดส การรับเข็มกระตุ้นยังต่ำกว่า 40% มีเพียงเขตสุขภาพที่ 13 กทม. ที่รับเข็มที่สามเกิน 40% ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป แม้โรคโควิด 19 จะปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่สิ่งสำคัญคือการรับเข็มกระตุ้น โดยในส่วนของสถานพยาบาลต่างๆ ในภูมิภาค 76 จังหวัดสามารถไปรับบริการโรงพยาบาลภาครัฐได้ทั้งหมดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีการเตรียมและกระจายวัคซีนโควิด 19 ไปทุกพื้นที่และมีเพียงพอ มีวัคซีนบริการทุกแพลตฟอร์ม ทั้งชนิดเชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์ mRNA และโปรตีนซับยูนิต โดยกำหนดจุดรับบริการวัคซีนตามบริบท เช่น แบบวอล์กอิน ลงทะเบียนนัดล่วงหน้า จัดหน่วยฉีดเคลื่อนที่สำหรับผู้ป่วยติดเตียง จุดฉีดที่สถานประกอบการ ระบบสถานศึกษา หรือกรณีระบาดเป็นกลุ่มก้อนเพื่อป้องกันการระบาด

สำหรับการรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB สำหรับกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การรับสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการฉีดได้ เช่น ผู้ป่วยไตวายที่รับการฟอกไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะทีได้รับยากดภูมิ ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบหรือแพ้ภูมิตนเองที่ได้รับยากดภูมิ รวมถึงผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำกลุ่มอื่นๆ ส่วนการรับวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมให้บริการ ซึ่งจะมีการฉีด 3 เข็ม ในช่วงสัปดาห์ที่ 0 , 4 และ 12 โดยสามารถรับพร้อมวัคซีนชนิดอื่นได้ หากเด็กมีประวัติติดเชื้อให้เว้นระยะห่างไปก่อน 3 เดือน

“ย้ำว่าวัคซีนช่วยลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง 608 ได้ ทั้ง 76 จังหวัดมีความพร้อมในการจัดบริการ ต้องขอความร่วมมือมาสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ให้การเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอย่างปลอดภัย” นพ.ณรงค์กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ขณะนี้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างปลอดภัย เมื่อเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยช่วง 2 สัปดาห์นี้พบว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบลดลงจาก 650 ราย เหลือ 480 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจลดลงจาก 331 ราย เหลือ 263 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 7 วัน จาก 17 ราย ลดเหลือ 12 ราย โดยวันนี้รายงานเสียชีวิต 9 รายหรือต่ำกว่าหลักสิบ ขณะที่ผู้ป่วยรายวัน ผู้รักษาหาย และอยู่ระหว่างการรักษามีแนวโน้มดีขึ้นทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา 72 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 10 รายนั้น พบว่าเป็นผู้สูงอายุเกือบทั้งหมด โดยอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปถึง 47 ราย ขณะที่อายุ 60-69 ปี มี 13 ราย เกือบทุกคนมีโรคประจำตัว นอกจากนี้ ยังพบว่า 51% ไม่ได้รับวัคซีน ส่วนผู้ที่รับวัคซีนมา 2 เข็ม แต่เข็มสองนานเกิน 3 เดือน พบเสียชีวิต 29%


“ย้ำว่าผู้สูงอายุไม่ปลอดภัย หากไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ดังนั้น เมื่อรับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือน ให้มารับเข็มสาม และรับเข็มสามเกิน 3 เดือนให้มารับเข็มสี่ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ซึ่งข้อมูลพบว่า การฉีดในสูงอายุช่วยลดการเสียชีวิตลง 41 เท่า เมื่อเทียบคนไม่ได้รับวัคซีน และจากการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - ปัจจุบัน รวม 143 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 82% เข็มสอง 77% และเข็มกระตุ้นรวม 46% ซึ่งจากการประมาณการณ์โดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ในปี 2564 เราป้องกันผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ได้ถึง 382,600 ราย และปี 2565 ป้องกันเสียชีวิต 107,400 ราย หรือรวมกัน 4.9 แสนราย รวมถึงป้องกันการป่วยหนักนับล้านคน ช่วยลดค่ารักษาได้จำนวนมาก” นพ.โสภณกล่าว


นพ.โสภณกล่าวว่า ประเทศไทยป้องกันเสียชีวิตได้จำนวนมากด้วยนโยบายรัฐที่เน้นฉีดวัคซีนแบบมีประสิทธิภาพ คือ เน้นบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง 608 คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรังให้ได้รับวัคซีนก่อน ทำให้ตรงเป้าหมาย และเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดรุนแรง เพื่อให้คนไม่ติดเชื้อได้มีภูมิคุ้มกัน รวมถึงเรายังใช้มาตรการอื่นร่วม เช่น การสวมหน้ากากอนามัยที่เกือบถึง 100% การมียารักษาที่มีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีประชากรใกล้เคียงกัน คือเกือบ 70 ล้านคน และมีการรับวัคซีนครอบคลุมใกล้เคียงกัน คือ 75-78% พบว่าไทยมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า คือ 467 ต่อล้านประชากร ส่วนอังกฤษ 2,765 ต่อล้านประชากร และฝรั่งเศส 2,364 ต่อล้านคนประชากร


นพ.โสภณกล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ช่วงการระบาดของโอมิครอน BA.4/BA.5 ในเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 การฉีดวัคซีน 2 เข็มยังได้ประโยชน์ป้องกันการป่วยหนัก 60% และป้องกันเสียชีวิต 72% แต่จะดีกว่าถ้าฉีดเข็มกระตุ้น การป้องกันป่วยหนักเพิ่มขึ้นเป็น 83% ป้องกันการเสียชีวิต 93% และหากฉีดเกิน 4 เดือนแล้วต้องรับเข็ม 4 จะช่วยป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 100% ดังนั้น ครอบครัวที่มีกลุ่มเสี่ยง 608 ถ้ายังไม่ได้รับวัคซีนหรือยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้นต้องพามารับ ซึ่งจากข้อมูลพบว่ายังมีผู้สูงอายุอีก 1.9 ล้านคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน


“ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม โรคโควิด 19 จะเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง สถานที่สาธารณะ พื้นที่ปกติจะผ่อนคลายความเข้มงวด ดังนั้น คนไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้นจึงควรรีบมารับ เพื่อป้องกันความเสี่ยงโดยเป้าหมายต่อจากนี้ จะให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยเข้าถึงวัคซีนโดยสะดวก ทั้งโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ และ รพ.สต.มีวัคซีนให้บริการต่อเนื่อง เน้นประชากรกลุ่มเสี่ยงให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิต และหากปีหน้ามีวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ ภาครัฐก็พร้อมจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ สำหรับคนที่ต้องการ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง ส่วนวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็ก 6 เดือนถึงต่ำกว่า 5 ขวบ จะมาถึงใน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้” นพ.โสภณกล่าว


ด้าน พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า กทม.เตรียมพร้อมให้บริการวัคซีนประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาให้บริการและดำเนินงานตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนวัคซีนให้แก่ กทม. และสนับสนุนการฉีดวัคซีนทำให้ประชาชนเข้ารับบริการได้จำนวนมาก โดนเฉพาะศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ทำให้ กทม.สามารถฉีดวัคซีนสะสม 27.8 ล้านโดส สามารถฉีดวัคซีนเข็มสองเกิน 100% และเข็มกระตุ้นเกิน 70% และยังมีคนสนใจเข้ารับการฉีดเข็มสามและเข็มสี่อย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป กทม.กำหนดเป้าหมายฉีดวัคซีนเข็ม 3 ที่ 70% ปัจจุบันฉีดได้แล้ว 69.85% ส่วนกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้สูงถึง 68.83% สำหรับวันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป กทม.ยังให้บริการวัคซีนตามความสมัครใจอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่ม 608 จะให้รับวัคซีนเข็มสามเกิน 70% โดยจะเปิดบริการทั้งนัดหมายและวอล์กอิน (Walk in) เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง 8.00-12.00 น. โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ศูนย์ฉีดวัคซีนกีฬาเวสน์ 2 ไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เปิดทุกวัน 8.00-16.00 น. หากมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนประสานศูนย์บริการสาธารณสุขหรือสำนักงานเขต ดูแลให้วัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ที่ต้องการ ส่วนเรื่องผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนสามารถติดต่อตามสิทธิสุขภาพของตน ส่วนกรณีข้อมูลในหมอพร้อมไม่ถูกต้อง เราเปิดสายด่วน 1555 ประสานแก้ไขข้อมูลได้
****************************************** 30 กันยายน 2565

30 ก.ย. 2565 เวลา 19:41 | อ่าน 342
กำลังโหลด ...


รีวิวบ้านใหม่ ไอเดียสร้างบ้าน
 
แชร์
L
ซ่อน
แสดง
มาใหม่
วันจ่ายเงินเดือนข้าราชการบํานาญ 2568 เงินเดือนบำนาญ 2568
47 15 ก.ย. 2567
วันจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2568 เงินเดือนราชการ 2568
42 15 ก.ย. 2567
ดวงกับดาวประจำวันที่ 15-21 กันยายน 2567
66 15 ก.ย. 2567
ดวงกับดาวประจำวันที่ 8-14 กันยายน 2567
365 9 ก.ย. 2567
คำไทยน่ารู้ ความหมายของคำว่า เกษียณ เกษียร เกษียน ใช้อย่างไร
43 4 ก.ย. 2567
เคาะเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร อายุ 0-6 ปี จาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท
357 1 ก.ย. 2567
ดีอี เตือน ข่าวปลอม “กรุงไทยปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok” พบ “โจรออนไลน์” เปิด 4 บัญชีปลอม ลวงดึงข้อมูล -ดูดเงิน ปชช.
92 1 ก.ย. 2567
ลมยางควรเติมบ่อยแค่ไหน เติมเท่าไหร่ดี
75 1 ก.ย. 2567
ดวงกับดาวประจำวันที่ 1-7 กันยายน 2567
833 1 ก.ย. 2567
บัตรทอง “ทำฟันฟรี” แค่มีบัตรประชาชนใบเดียว
424 31 ส.ค. 2567
ดูเพิ่มเติม
 
หาเพื่อนไลน์
ไอเดียบ้านสวย
เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์
หางานราชการ
  English
TOEIC กับ การขึ้นเงินเดือน GED VS กศน ไทย (สอบเทียบไทย) แนะนำที่เรียน IELTS ยอดนิยม ของ เด็กอินเตอร์ TOEIC Online GED CU-TEP SAT
 
บทความกลุ่มเดียวกัน
กำลังโหลด ...