ข้าราชการพลเรือนสามัญ
ข้าราชการพลเรือนสามัญ คือ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน[1] (ฉบับปัจจุบันคือ พ.ศ. 2551) โดยการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือในบางกรณีอาจมีการมอบหมายให้กรมต้นสังกัด เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกฯ ซึ่งการสอบจะแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ
ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.)
ภาคความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.)
และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค.)
ประวัติ
ก่อนจะมีการจัดระบบการบริหารราชการ และระบบข้าราชการในประเทศไทย ได้กำหนดให้ข้าราชการมีบรรดาศักดิ์ มีลักษณะเป็นเป็นชั้นยศ (Rank) โดยแบ่งออกเป็น 9 ชั้น คือ
● บรรดาศักดิ์ชั้น "นาย"
● บรรดาศักดิ์ชั้น "พัน" หรือ "หมื่น"
● บรรดาศักดิ์ชั้น "ขุน" (เป็นข้าราชการสัญญาบัตร)
● บรรดาศักดิ์ชั้น "หลวง"
● บรรดาศักดิ์ชั้น "พระ"
● บรรดาศักดิ์ชั้น "พระยา"
● บรรดาศักดิ์ชั้น "เจ้าพระยา"
● ส่วนบรรดาศักดิ์ "สมเด็จเจ้าพระยา" นั้น ต้องยกเป็นตำแหน่งพิเศษออกไป เพราะพระราชทานพิเศษเฉพาะตัวจำนวนไม่มาก จึงเป็นกรณีพิเศษ
กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นผู้วางรากฐานของข้าราชการพลเรือน ซึ่งทรงวางระเบียบข้าราชการพลเรือนเป็นครั้งแรก ให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472[2] จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันข้าราชการพลเรือน
การวางระเบียบข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกสรรผู้มีความรู้และความสามารถเข้ารับราชการ โดยกำหนดให้มีข้าราชการ 3 ประเภท คือ
● ข้าราชการพลเรือนสามัญ คือ ข้าราชการที่รัฐบาลบรรจุแต่งตั้งไว้ตามระเบียบฯ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ
● ชั้นสัญญาบัตร (รองอำมาตย์ตรีขึ้นไป)
● ชั้นราชบุรุษ
● ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ คือ บุคคลที่รัฐบาลจ้างไว้ให้ทำการเฉพาะอย่าง หรือระยะเวลาชั่วคราว
● เสมียนพนักงาน คือ ข้าราชการชั้นต่ำ ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเดือนตามอัตราที่ตั้งไว้
การแบ่งระดับข้าราชการ
ในอดีตระบบราชการ ใช้การแบ่งระดับข้าราชการในรูปแบบของระบบศักดินา กระทั่งมีการวางระบบข้าราชการพลเรือนสามัญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 จึงเริ่มมีการวางรูปแบบระดับข้าราชการใหม่ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ
● ยุคระบบชั้นยศ
เป็นการแบ่งระดับข้าราชการออกเป็นชั้นยศต่างๆ โดยข้าราชการพลเรือนสามัญจะแบ่งเป็น 5 ชั้น คือ ชั้นจัตวา ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก และชั้นพิเศษ ส่วนข้าราชการพลเรือนวิสามัญจะแบ่งเป็น 2 ชั้น คือ วิสามัญประจำราชการ ชั้นจัตวา และวิสามัญกิตติมศักดิ์ ยึดระบบชั้นยศ ลำดับอาวุโส และคุณสมบัติของบุคคลเป็นหลัก (Rank in Person)
● ยุคมาตรฐานกลาง 11 ระดับ
เป็นการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยการใช้ระบบจำแนกตำแหน่งตามลักษณะงาน คุณภาพและความยุ่งยากของงานแต่ละตำแหน่ง หรือที่เรียกว่าระบบ PC (Position Classification) โดยกำหนดเป็นระดับตำแหน่งเป็นมาตรฐานกลาง (Common level) 11 ระดับ หรือ "ซี" เพื่อไว้ใช้ในการเปรียบเทียบค่างานในแต่ละส่วนราชการให้เป็นไปตามมาตรฐานกลางนี้ เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และเมื่อมีการปฏิรูปการทำงานในภาคราชการพลเรือน ให้ข้าราชการมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่กว้างขึ้น จึงได้มีการเปลี่ยนระดับมาตรฐานกลางใหม่ แต่มิได้มีการยกเลิกระบบ PC แต่อย่างใด ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
● ยุคระบบลักษณะประเภทตำแหน่ง
ในปัจจุบันข้าราชการพลเรือนสามัญ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท โดยแต่ละประเภทจะมีมาตรฐานกลางแต่ละระดับตำแหน่งแยกออกจากกัน และได้ยกเลิกมาตรฐานกลาง 11 ระดับเดิมที่ไม่ได้แยกประเภทตำแหน่ง (ยกเลิก ซี) แต่ยังคงมีการกำหนดตำแหน่งตามลักษณะของงาน และความยุ่งยากซับซ้อนของงานแต่ละตำแหน่ง (ระบบจำแนกตำแหน่ง) ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ได้แก่
● ประเภทบริหาร
● ระดับสูง
● ระดับต้น
● ประเภทอำนวยการ
● ระดับสูง
● ระดับต้น
● ประเภทวิชาการ
● ระดับทรงคุณวุฒิ
● ระดับเชี่ยวชาญ
● ระดับชำนาญการพิเศษ
● ระดับชำนาญการ
● ระดับปฏิบัติการ
● ประเภททั่วไป
● ระดับทักษะพิเศษ
● ระดับอาวุโส
● ระดับชำนาญงาน
● ระดับปฏิบัติงาน
การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ประเภททั่วไป
● ระดับปฏิบัติงาน เริ่มขอ บ.ม. ถึง จ.ช.
● ระดับชำนาญงาน เริ่มขอ ต.ม. (ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ขอ ต.ช.)
● ระดับอาวุโส เริ่มขอ ท.ม. (ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ขอ ท.ช.)
● ระดับทักษะพิเศษ ได้ ท.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ป.ม. - ได้ ป.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ป.ช. - ได้ ป.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ขอ ม.ว.ม. (ในปีที่เกษียณอายุราชการขอพระราชทานได้อีก 1 ชั้นตรา แต่ไม่เกิน ป.ช.)
ประเภทวิชาการ
● ระดับปฏิบัติการ เริ่มขอ ต.ม.
● ระดับชำนาญการ เริ่มขอ ต.ช. (ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของระดับชำนาญการพิเศษ ขอ ท.ม.- ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของระดับชำนาญการพิเศษมาแล้ว 5 ปี ขอ ท.ช.)
● ระดับชำนาญการพิเศษ เริ่มขอ ท.ช. (ได้รับเงินเดือนขั้นสูงและได้ ท.ช. มาแล้ว 5 ปี ขอ ป.ม.)
● ระดับเชี่ยวชาญ ได้ ท.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ป.ม. - ได้ ป.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ป.ช. - ได้ ป.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ขอ ม.ว.ม. (ในปีที่เกษียณอายุราชการขอพระราชทานได้อีก 1 ชั้นตรา แต่ไม่เกิน ป.ช. เว้นกรณีลาออก)
● ระดับทรงคุณวุฒิที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 13,000 บาท เลื่อนชั้นตราตามลำดับได้ทุกปีจนถึง ป.ม. ได้ ป.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ป.ช. - ได้ ป.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ม.ว.ม. - ได้ ม.ว.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ขอ ม.ป.ช. (ในปีที่เกษียณอายุราชการขอพระราชทานได้อีก 1 ชั้นตรา แต่ไม่เกิน ม.ว.ม. เว้นกรณีลาออก)
ระดับทรงคุณวุฒิที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 15,600 บาท ได้ ป.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ป.ช. - ได้ ป.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ม.ว.ม. - ได้ ม.ว.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ขอ ม.ป.ช. (ในปีที่เกษียณอายุราชการขอพระราชทานได้อีก 1 ชั้นตรา เว้นกรณีลาออก)
ประเภทอำนวยการ
● ระดับต้น เริ่มขอ ท.ช. (ได้รับเงินเดือนขั้นสูงและได้ ท.ช. มาแล้ว 3 ปี ขอ ป.ม.)
● ระดับสูง ได้ ท.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ป.ม. - ได้ ป.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ป.ช. - ได้ ป.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ขอ ม.ว.ม. (ในปีที่เกษียณอายุราชการขอพระราชทานได้อีก 1 ชั้นตรา แต่ไม่เกิน ป.ช. เว้นกรณีลาออก)
ประเภทบริหาร
● ระดับต้น ได้ ท.ช. มาแล้ว 3 ปี ขอ ป.ม. - ได้ ป.ม. มาแล้ว 3 ปี ขอ ป.ช. - ได้ ป.ช. มาแล้ว 5 ปี ขอ ม.ว.ม. (ในปีที่เกษียณอายุราชการขอพระราชทานได้อีก 1 ชั้นตรา แต่ไม่เกิน ป.ช. เว้นกรณีลาออก)
● ระดับสูงที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท เลื่อนชั้นตราตามลำดับได้ทุกปีจนถึง ป.ม. ได้ ป.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ป.ช. - ได้ ป.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ม.ว.ม. - ได้ ม.ว.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ขอ ม.ป.ช. (ในปีที่เกษียณอายุราชการขอพระราชทานได้อีก 1 ชั้นตรา แต่ไม่เกิน ม.ว.ม. เว้นกรณีลาออก)
● ระดับสูงที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท ได้ ป.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ป.ช. - ได้ ป.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ม.ว.ม. - ได้ ม.ว.ม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอ ม.ป.ช. (ในปีที่เกษียณอายุราชการขอพระราชทานได้อีก 1 ชั้นตรา เว้นกรณีลาออก)
การแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เต็มยศ (บุรุษ)
การแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เต็มยศ (สตรี)
อินทรธนู
ประดับแพรแถบย่อสำหรับข้าราชการที่แต่งเครื่องแบบปกติขาวและเครื่องแบบปฏิบัติราชการ
การประดับเข็มพระราชทาน (ตามประกาศสำนักพระราชวัง)
ความรู้เรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง เว็บวิกิพิเดีย...