อีสานโพล ฟันธง ปชช.90 % อยากให้กำนันผู้ใหญ่บ้านต้องมาจากการเลือกตั้ง อยู่ในตำแหน่ง 4-5 ปี
วันนี้ (22 ต.ค. 55) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "ทัศนคติของชาวอีสาน ต่อบทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังต้องการให้คงตำแหน่งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไว้ และให้ประชาชนเลือกตั้งมาดำรงตำแหน่งวาระละ 4-5 ปี
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อบทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 723 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 85.3 เห็นว่า ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ควรให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 4-5 ปี รองลงมาอีกร้อยละ 13.0 เห็นว่าให้ดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปี ส่วนอีกร้อยละ 1.7 ไม่มีความเห็น สำหรับตำแหน่งกำนันตำบล ความเห็นของกลุ่มตัวอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน คือส่วนใหญ่ร้อยละ 85.8 เห็นว่าควรดำรงตำแหน่งคราวละ 4-5 ปี รองลงมา ร้อยละ 13 ให้ดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปี ส่วนอีกร้อยละ 1.2 มีความเห็นอื่นๆ เช่น ดำรงตำแหน่ง 2-7 ปี บางความเห็นระบุว่า ไม่ควรมีตำแหน่งกำนันตำบลแล้ว
สำหรับการได้มาซึ่งตำแหน่งกำนันตำบลนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.3 เห็นว่าควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน อีกร้อยละ 9.7 เห็นว่าให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนในการเลือกกำนันตำบล และเมื่อถามต่อว่า ตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ยังควรให้คงมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 88.5 เห็นว่า ยังควรให้มีอยู่ โดยเฉพาะในชนชท อีกร้อยละ 11.5 เห็นว่าควรยกเลิกตำแหน่งนี้ เนื่องจากมีองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ทำหน้าที่อยู่แล้ว
“จากผลการสำรวจข้างต้นทำให้เห็นว่า ตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน เป็นตำแหน่งทางราชการที่ถูกกำหนดหน้าที่โดยเฉพาะในชนบทมาเป็นระยะเวลายาวนาน ประชาชนมีความผูกพันและคุ้นเคยใกล้ชิด แม้ว่าปัจจุบันจะมีการกระจายอำนาจลงมายังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งรูปแบบ อบต. หรือ เทศบาล ซึ่งส่งผลให้บทบาทและความสำคัญของกำนันผู้ใหญ่บ้านลดลงก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี ประชาชนยังคงให้ความสำคัญและต้องการให้คงตำแหน่งนี้เอาไว้ นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ตำแหน่งดังกล่าว ควรได้มาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งคราวละ 4-5 ปี ” ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 57.2 เพศชาย ร้อยละ 42.8 ส่วนใหญ่อายุ 41-50 ปี ร้อยละ 30.8 รองลงมาอายุ 31-40 ปี ร้อยละ 22.1, อายุ 51-60 ปี ร้อยละ 20.6, อายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 12.4, อายุ 21-30 ปี ร้อยละ 12.3, อายุต่ำกว่า 21 ปี ร้อยละ 1.8 และ อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล (เขตเมือง) ร้อยละ 25.5 และอยู่นอกเขตเทศบาล (เขตชนบท) ร้อยละ 74.5
ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 46.5 ปริญญาตรี ร้อยละ 18.4, มัธยมปลาย / ระดับปวช. ร้อยละ 14.4, มัธยมต้น ร้อยละ 9.5, อนุปริญญา / ปวส. ร้อยละ 7.6 ปริญญาโทและเอก ร้อยละ 3.6 ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 44.6, รองลงมาอาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.8, รับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ12.2, ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.5, พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 6.8, พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 6.6, นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 3.5 และอื่นๆ อีกร้อยละ 1.0
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 35.4, 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 27.1, รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 16.6, รายได้ 20,001-40,000 ร้อยละ 8.7, รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 7.5 และมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 4.7
ข้อมูลจาก
www.thairath.co.th